admin
No description.Please update your profile.
Idea Glass | �ู��ลิ��ระ�� �ำ���า�ละ�ั��ำห��าย�ระ����รรู��ุ���ิ�
หลายๆคนมักจะถามผมว่า ‘มีกระจกอะไรที่ไม่แพงเกินไปแต่ลดความร้อนได้ดีๆมั้ย?’ คำตอบคือ ‘มีครับ!’ แต่กระจกที่กันความร้อนได้ดีๆ โดยที่ราคาไม่แพง ก็มีข้อเสียที่ควรจะทราบไว้เช่นกันเพื่อประกอบการตัดสินใจ ส่วนกระจกที่กันความร้อนได้ดีมากๆ แต่ยอมรับได้ถ้าราคาแพงหน่อย อันนี้ง่ายเลยครับ
การรับมือกับความร้อนด้วยกระจก ถ้าจะเอาแบบเข้าใจละเอียดเป็นจริงเป็นจัง ผมคงต้องเขียนบทความนี้ในเชิงวิชาการและคงยาวเป็นเล่มๆแน่ครับ ดังนั้น บทความนี้ผมจึงขอเขียนอธิบายแบบง่ายๆ ด้วยการให้คุณผู้อ่านทำความรู้จักกับกระจกประหยัดพลังงานชนิดต่างๆแค่สามชนิดหลักๆ ซึ่งกระจกบางชนิดเราอาจจะคุ้นหูกันมาบ้าง บางชนิดอาจจะไม่รู้จักมาก่อนเลย มาดูกันเลยครับว่า ถ้าจะเลือกกระจกที่ช่วยลดความร้อน เรามีทางเลือกอะไรได้บ้าง และแต่ละชนิดมีข้อดีข้อเสียอย่างไร
1) กระจกสีตัดแสง
ถ้าพูดถึงกระจกที่ช่วยลดความร้อน เบสิคสุดก็ต้องกระจกสีตัดแสงครับ หลักการของกระจกชนิดนี้คือการใส่สีเข้าไปในเนื้อกระจกในขั้นตอนการผลิต ถ้าย้อนไปเมื่อ 10-20 ปีก่อน กระจกสีชาดำจะเป็นสีที่นิยมมาก ใช้กระจกชนิดนี้กันแทบทุกบ้าน โดยกระจกประเภทนี้อาศัยความมืดมาตัดความร้อนครับ ยิ่งกระจกสีเข้มมากๆก็จะกันความร้อนได้เป็นอย่างดี แต่กระจกชนิดนี้จะมืดมาก โดยเฉพาะช่วงที่แสงน้อยจะดูไม่ค่อยโปร่งโล่งสบายนักเพราะมองเห็นภายนอกได้ไม่ชัดเจน
ยุคต่อมา ในยุคที่โครงการหมู่บ้านจัดสรรหรือคอนโดบูม ผู้ประกอบการต่างโปรโมตจุดขายการใช้กระจกเขียวตัดแสง (Green Tinted Glass) ว่าช่วยลดความร้อนได้มากและสีเขียวเป็นสีที่ดูแล้วสบายตา กระจกเขียวจึงเป็นกระจกที่นิยมมากขึ้นในกลุ่มบ้านและคอนโด เรียกว่าแทบทุกโครงการจะโฆษณากระจกชนิดนี้เป็นอย่างมาก พร้อมๆกับความนิยมในกระจกสีชาดำที่น้อยลงเรื่อยๆ
ข้อดีของกระจกชนิดนี้คือราคาไม่แพงและคุ้มค่ากับประสิทธิภาพที่ได้รับ เพราะมีราคาสูงกว่ากระจกใสธรรมดาเพียงแค่ 10-20% เท่านั้น ในขณะที่ให้ประสิทธิภาพป้องกันความร้อนเข้ามาในอาคารได้ประมาณ 40-50% จึงทำให้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แต่ข้อเสียคือ กระจกชนิดนี้จะอมความร้อนในตัวกระจกไว้ค่อนข้างสูง เพราะการผลิตกระจกสี ทำได้โดยการเพิ่มออกไซด์ของโลหะชนิดต่างๆเข้าไป ซึ่งมีผลให้เมื่อกระจกสีถูกตากแดดนานๆ ตัวกระจกจะอมความร้อนไว้ และค่อยๆคลายความร้อน (Radiation) ออกมาตลอดเวลา รวมทั้งสิ่งที่ต้องระวังเป็นอย่างมากคือเมื่อใช้กระจกชนิดนี้ในที่ที่ถูกแสงแดดส่องโดยตรงเป็นเวลานานๆ กระจกมีโอกาสที่จะแตกเองได้เนื่องจากความร้อนสะสมในเนื้อกระจก กรณีนี้สามารถป้องกันไม่ให้แตกได้โดยการเลือกใช้กระจกสีที่ทำเทมเปอร์ จะช่วยให้กระจกทนความร้อนได้โดยตัดปัญหาเรื่องกระจกแตกจากการอมความร้อนออกไปได้เลยครับ
เทรนด์ของกระจกสีตัดแสงอีกสีหนึ่งที่กำลังค่อยๆเป็นที่นิยมมากขึ้นคือ กระจกสีตัดแสงสีเทา (Euro Grey tinted glass) สีนี้เริ่มเข้ามาแทนที่สีเขียว และเราเริ่มเห็นหลายๆโครงการใช้กระจกสีเทาแทนที่กระจกสีเขียว อันนี้เป็นเรื่องของเทรนด์การออกแบบและความนิยมที่เปลี่ยนไปตามยุคตามสมัยครับ
2) กระจกสะท้อนแสง (Reflective Glass)
ชื่อก็บอกอยู่แล้วครับ… กระจกสะท้อนแสง หรือกระจกรีเฟล็กทีฟ ใช้หลักการสะท้อนแสงที่เข้ามาในอาคารให้สะท้อนออกไป ซึ่งกระจกชนิดนี้จะเคลือบสารสะท้อนแสงไว้ที่ผิวกระจก ทำให้สะท้อนแสงออกไปได้ 20-30% จึงช่วยลดพลังงานความร้อนที่เข้ามาภายในอาคารได้เป็นอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้แสงที่สะท้อนออกไปอาจไปรบกวนบ้านข้างเคียงได้ รวมทั้งการที่กระจกสะท้อนแสงมากๆ ก็ทำให้ภายในอาคารค่อนข้างมืด ต้องใช้ไฟแสงสว่างติดตั้งในอาคารมาช่วย ทำให้ไม่ได้แสงธรรมชาติเท่าที่ควร
ข้อเสียอีกอย่างของกระจกชนิดนี้ คือความเป็นส่วนตัว โดยเฉพาะในเวลากลางคืน เพราะกระจกชนิดนี้เมื่อมองจากด้านที่มืดกว่าไปด้านที่สว่างกว่า จะมองเห็นทะลุปรุโปร่ง ในขณะที่ด้านที่สว่างกว่าจะมองไม่เห็นออกไป จึงไม่เหมาะที่จะนำมาใช้กับบ้านพักอาศัยหรือโรงแรม ที่ต้องการความเป็นส่วนตัวครับ แต่กระจกชนิดนี้เป็นที่นิยมในกลุ่มอาคารสำนักงานที่ใช้งานเฉพาะเวลากลางวัน เพราะราคาไม่ได้สูงนัก (สูงกว่ากระจกธรรมดาประมาณ 50-60% ถ้าไม่ได้ทำเทมเปอร์) และช่วยป้องกันความร้อนได้ดีมาก แต่ก็แลกมาด้วยข้อเสียที่ผมได้กล่าวไปแล้ว รวมทั้งกระจกชนิดนี้ก็เป็นกระจกอีกชนิดที่อมความร้อนสูง จึงนิยมนำมาทำเทมเปอร์เพื่อป้องกันปัญหากระจกแตกจากการสะสมความร้อนครับ
ตัวอย่างกระจกสะท้อนแสงเฉดสีต่างๆ
3) กระจกโลว์อี (Low-E Glass)
คำว่าโลว์อี ย่อมาจาก ‘Low Emission’ แปลว่า การถ่ายเทต่ำ ซึ่งในที่นี้หมายถึงกระจกที่มีค่าการถ่ายเทความร้อนต่ำ กระจก Low-E จะมีการเคลือบผิวกระจกด้วยสารเงิน (Silver) บางๆ โดยสารที่เคลือบกระจกได้รับการออกแบบให้สะท้อนพลังงานความร้อนออกไปได้มาก แต่ยังคงให้แสงสว่างผ่านเข้ามาได้มากเช่นกัน ซึ่งกระจก Low-E เองก็มีหลากหลายระดับให้เลือกใช้ ระดับทั่วไปคือฮาร์ดโค้ทโลว์อี (Hard Coat Low-E) ค่าการถ่ายเทความร้อน (Emissivity) 15-36% และกระจกซอฟท์โค้ทโลว์อี (Soft Coat Low-E) ค่าการถ่ายเทความร้อนต่ำมากแค่ 2-10% เท่านั้นเอง! กระจกชนิดนี้จึงเป็นกระจกที่ให้ค่าการกันความร้อนที่สูงมากๆ ในขณะที่ยอมให้แสงธรรมชาติเข้ามาในอาคารได้มากอีกด้วย ดังนั้นกระจก Low-E จึงนับได้ว่าเป็นกระจกประหยัดพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุดที่สามารถเลือกใช้ได้ในปัจจุบันครับ
แต่อย่างที่เรารู้กันว่า สารเงิน (Ag) เป็นสารที่ไม่ทนต่อสภาวะอากาศและใช้ไปนานๆจะเป็นคราบสนิมดำๆเกิดขึ้น บนกระจกก็เช่นกันครับ เราจึงไม่สามารถใช้กระจก Low-E แบบโชว์ด้านเคลือบไว้นอกกระจกได้ จำเป็นต้องนำกระจกมาทำลามิเนทหรืออินซูเลทให้ด้านเคลือบถูกปกปิดมิดชิดไว้ด้านในกระจก ซึ่งกรณีที่มีการลงทุนใช้กระจก Low-E แล้ว ผมขอแนะนำให้ใช้กระจกแบบอินซูเลท (กระจกฉนวนที่มีช่องว่างอากาศคั่นตรงกลาง) จะให้ประสิทธิภาพการลดการถ่ายเทความร้อนได้สูงสุด ในขณะที่แสงส่องผ่านเข้ามาได้อย่างปรกติ
กระจกชนิดนี้กำลังเป็นที่นิยมมากสำหรับอาคารสำนักงานสมัยใหม่ โดยเฉพาะช่วงนี้เทรนด์การอนุรักษ์พลังงานกำลังมาแรง อาคารสูงหลายๆแห่งลงทุนใช้กระจก Low-E แบบกระจกฉนวนอินซูเลท เพื่อลดการใช้พลังงาน โดยกระจกประเภทนี้ช่วยลดโหลดการใช้ของเครื่องปรับอากาศและลดค่าเปิดไฟในอาคารได้เป็นอย่างมากเลยทีเดียวครับ ยกตัวอย่าง เซเว่นอีเลฟเว่น สาขาธาราสแควร์ บนถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่งเป็นร้านประหยัดพลังงานต้นแบบของ 7-11 ที่เลือกใช้กระจก Low-E อินซูเลทที่ความหนารวม 18 มม. ทำให้มองจากภายนอกหรือภายในร้านก็ดูเหมือนกระจกใสธรรมดาๆ แต่หารู้ไม่ว่ากระจกที่ใช้ในสาขาต้นแบบนี้ ช่วยลดการใช้พลังงานของเครื่องปรับอากาศได้เป็นอย่างมาก และ 7-11 สาขานี้ก็ได้รับการรับรองจากสถาบันอาคารเขียวไทย ในระดับ Platinum ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของการประเมินเลยทีเดียวครับ
การเลือกใช้กระจก Low-E ช่วยให้แสงเป็นธรรมชาติโดยตัดความร้อนออกไป
ราคากระจก Low-E ซึ่งเมื่อนำมาทำอินซูเลทแล้วถือว่าค่อนข้างสูงมาก เมื่อเทียบกับกระจกเขียวตัดแสงธรรมดา ราคาจะสูงกว่ากันถึง 4-6 เท่า ยังไม่รวมระบบเฟรมที่ต้องรองรับกระจกที่หนาขึ้นอีกด้วย จึงไม่เป็นที่นิยมมากนักสำหรับบ้านพักอาศัยหรือคอนโดทั่วไป แต่ถ้าคำนวณถึงความคุ้มค่าในระยะยาวแล้ว การเลือกใช้กระจกในระดับนี้ ก็ยังถือว่าคุ้มค่าเพราะให้ความสะดวกสบายและลดค่าพลังงานได้ในระยะยาวครับ
ก่อนจบบทความนี้ ผมขอสรุปตัวเลือกกระจกประหยัดพลังงานเท่าที่มีทั่วไปในท้องตลาด พร้อมเปรียบเทียบค่าการส่องผ่านของแสง (ยิ่งมากยิ่งดี) และค่าสัมประสิทธิ์การส่งผ่านพลังงานความร้อน SHGC (ยิ่งน้อยยิ่งดี) เพื่อเป็นแนวทางการเลือกใช้สำหรับผู้ที่สนใจครับ
เรื่อง – กระจกไม่กระจอก –
ภาพ: google image / manageronline.com / Land & House
อ้างอิงข้อมูล: AGC / Guardian
เรื่องที่เกี่ยวข้อง: การอ่านค่าประสิทธิภาพกระจก (อย่างง่าย)
No description.Please update your profile.
@ 2019 Idea Glass-Developed By HOMPOM WEB DESIGN
LEAVE A REPLY