064-594-2888, 096-697-8951 Geffy.kun@gmail.com

เผชิญปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน…จับตากระจกส่งออกจากประเทศจีน

กระจกเป็นส่วนประกอบที่สำคัญชนิดหนึ่งในวัตถุต่างๆ เช่น หน้าต่าง ประตู โต๊ะ ตู้โชว์สินค้า กรอบรูป และรถยนต์ ซึ่งล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน ด้วยความหลากหลายของการใช้กระจกเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ต่างๆ กระจกจึงเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญปัจจัยหนึ่งสำหรับอุตสาหกรรมอื่นที่ใช้กระจกเป็นวัตถุดิบ ทั้งอุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์

ในระยะเริ่มต้นของอุตสาหกรรมกระจกในประเทศไทยแม้ว่าวัตถุดิบในการผลิตกระจกกว่า 80 % จะเป็นวัตถุดิบที่มีอยู่ภายในประเทศ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านการผลิตที่ต้องใช้เงินลงทุนเครื่องจักร และเทคโนโลยีในการผลิตที่ค่อนข้างสูงจึงจำเป็นต้องนำเข้ากระจกจากต่างประเทศ ทว่าด้วยการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศและอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีความจำเป็นต้องใช้กระจกเป็นส่วนประกอบมีมากขึ้น เช่น การก่อสร้างอาคาร บ้านเรือนที่นิยมใช้กระจกเป็นส่วนประกอบมากขึ้น ภาครัฐจึงได้ให้การส่งเสริมการผลิตกระจกไว้ใช้ภายในประเทศเอง โดยในระยะแรกของการผลิตกระจกในประเทศ (ประมาณปี 2506) เป็นการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า และได้ขยายกำลังการผลิตเรื่อยมาเพื่อให้สามารถรองรับต่อปริมาณความต้องการใช้กระจกภายในประเทศที่เพิ่มมากขึ้นและเมื่อมีปริมาณการผลิตมากพอหลังจากใช้บริโภคภายในประเทศจึงจะส่งออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งโดยภาพรวมในปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนการผลิตกระจกเพื่อจำหน่ายให้กับตลาดภายในประเทศประมาณ 60 % และส่งออกไปยังต่างประเทศสูงถึงประมาณ 40 %

อุตสาหกรรมกระจกเป็นอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวตามการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งแนวโน้มอุตสาหกรรมกระจกสำหรับประเทศไทยในปี 2551 ยังคงขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในและภายนอกประเทศหลายประการที่สำคัญได้แก่

ปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศ

 ต้นทุนด้านพลังงานเพิ่มสูงขึ้น ในการผลิตกระจกประกอบไปด้วยต้นทุนด้านเชื้อเพลิงประมาณ 20 % ของต้นทุนการผลิตรวม ซึ่งจากการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นของราคาน้ำมันดิบได้ส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท รวมถึงน้ำมันเตาที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระจกให้เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยราคาน้ำมันเตาได้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยมา และได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากตั้งแต่เดือนตุลาคม 2550 (รายละเอียดแสดงในภาพที่ 1) ซึ่งหากราคาน้ำมันเตายังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อต้นทุนในการผลิตและกำไรของผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 ปริมาณความต้องการภายในประเทศ ความต้องการผลิตภัณฑ์กระจกในประเทศไทยจะขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องที่นำกระจกไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตได้แก่ อุตสาหกรรมก่อสร้าง (50 %) อุตสาหกรรมยานยนต์ (30 %) และอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น เฟอร์นิเจอร์ และบรรจุภัณฑ์ (20 %) ดังนั้นหากเกิดการเปลี่ยนแปลงในภาวะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ย่อมกระทบต่อภาวะตลาดอุตสาหกรรมกระจกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งในปี 2551 แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมที่ควรพิจารณาอย่างใกล้ชิดคือ

– อุตสาหกรรมก่อสร้าง แนวโน้มการลงทุนในอุตสาหกรรมการก่อสร้างในปี 2551 ในส่วนของการลงทุนจากภาครัฐอาจจะมีแนวโน้มขยายตัวจากการดำเนินการตามโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ หรือเมกะโปรเจกท์คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง เส้นทางบางซื่อ-ตลิ่งชัน และบางซื่อ-รังสิต อีกทั้งโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง เส้นทางบางใหญ่-บางซื่อที่จะเริ่มทำการก่อสร้างในปี 2551 อีกทั้งการก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทร และบ้านมั่นคงในพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ในส่วนของการลงทุนก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ของทางภาคเอกชนอาจจะมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากปัญหาด้านเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมืองภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ซึ่งจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะกลับฟื้นคืนมาไม่สมบูรณ์มากนัก อีกทั้งต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวสูงขึ้น และปริมาณที่อยู่อาศัยรอขายสะสมที่สูงถึงประมาณ 1.1 แสนยูนิต แต่แนวโน้มการก่อสร้างคอนโดมิเนียมอาจขยายตัวโดยเฉพาะพื้นที่บริเวณตามแนวโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ที่จะเริ่มทำการก่อสร้างในปี 2551 เป็นต้นไป ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการกระจกแผ่นเรียบ และกระจกแปรรูปบางประเภท เช่น กระจกนิรภัย กระจกกันความร้อนเพิ่มขึ้น

– อุตสาหกรรมยานยนต์ แม้ว่าปริมาณความต้องการรถยนต์ของตลาดภายในประเทศจะเริ่มชะลอตัวลงบ้าง แต่ผู้ผลิตต่างชาติยังคงให้ความสำคัญและใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออก ซึ่งสังเกตได้จากปริมาณรถยนต์ที่ผลิตในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี (รายละเอียดแสดงในภาพที่ 2) อีกทั้งการส่งเสริมโครงการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (อีโคคาร์) ของภาครัฐ ซึ่งจะทำให้ปริมาณการผลิตรถยนต์ประเภทต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น อันจะส่งผลให้ปริมาณความต้องการกระจกโดยเฉพาะกระจกนิรภัยสำหรับรถยนต์เพื่อใช้เป็นปัจจัยการผลิตเพิ่มขึ้นด้วย

 การบริหารสินค้าคงคลัง เนื่องด้วยอุตสาหกรรมกระจกจำเป็นต้องทำการผลิตสินค้าอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง นับตั้งแต่เริ่มจุดเตาหลอมจนกระทั่งสิ้นอายุเตาหลอม ไม่สามารถหยุดหรือชะลอการผลิต เพราะหากหยุดการผลิตจะทำให้น้ำแก้วที่หลอมอยู่ในเตาเผาแข็งตัวเป็นแก้ว ไม่สามารถนำมาหลอมใหม่ได้ จึงต้องดำเนินการผลิตต่อเนื่องจนครบอายุของเตาเผาประมาณ 7 – 8 ปี จึงหยุดซ่อมเตาหลอม ทำให้เกิดความไม่สอดคล้องระหว่างปริมาณความต้องการใช้กระจกและปริมาณกระจกที่ผลิตได้ในแต่ละช่วงเวลาได้ นั่นคือปริมาณกระจกที่ผลิตออกสู่ตลาดในแต่ละช่วงเวลาจะมีปริมาณที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ ขณะที่ปริมาณความต้องการกระจกในแต่ละช่วงเวลาจะขึ้นอยู่กับความต้องการใช้กระจกของอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง การบริหารสินค้าคงคลังในแต่ละช่วงเวลาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงสินค้าคงคลังบ่อยครั้งเช่นอุตสาหกรรมกระจก เพราะสินค้าคงคลังถือเป็นต้นทุนของธุรกิจในแต่ละช่วงเวลา หากช่วงเวลาใดมีสินค้าคงคลังจำนวนมากเกินไปย่อมกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของธุรกิจได้ และหากมีสินค้าคงคลังที่ต่ำเกินไปอาจเป็นการเสี่ยงต่อภาวะสินค้าขาดตลาดได้

ปัจจัยเสี่ยงภายนอกประเทศ

 ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เนื่องจากปริมาณกระจกที่ผลิตได้ภายในประเทศประมาณ 40% จะถูกส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ หากค่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่ต่อไป อาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์กระจกที่จะลดลงได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอุตสาหกรรมกระจกอาจได้รับผลดีบ้างจากการนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตกระจกบางประเภทเช่น โซเดียมซัลเฟต ผงคาร์บอน และผงเหล็กที่จะมีราคาถูกลง

 การแข่งขันที่รุนแรงจากต่างประเทศทั้งการนำเข้าและส่งออก ผู้ผลิตกระจกในแต่ละประเทศพยายามที่จะแข่งขันด้านต้นทุนในการผลิตให้ต่ำกว่ากันอยู่ตลอดเวลาด้วยการขยายกำลังการผลิตให้เกิดการประหยัดต่อขนาดในการผลิตเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการในประเทศไทยไม่สามารถจำหน่ายหรือส่งออกกระจกในราคาที่สูงมากนัก อีกทั้งด้วยลักษณะของการผลิตกระจกที่ต้องดำเนินการผลิตต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ทำให้มีปริมาณกระจกจำนวนมากถูกผลิตขึ้นมา ขณะที่ความต้องการใช้กระจกของแต่ละประเทศขยายตัวไม่มากนัก ส่งผลให้เกิดการระบายสินค้าสู่ตลาดต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

ในส่วนของการนำเข้ากระจกสำหรับประเทศไทยนั้น หากพิจารณามูลค่าการนำเข้ากระจกของประเทศไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา(รายละเอียดแสดงในตาราง) จะพบว่าประเทศไทยมีการนำเข้ากระจกแผ่นเรียบและกระจกแปรรูปด้วยมูลค่าที่ลดลง เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้กระจกภายในประเทศไม่เพิ่มสูงขึ้นเท่าไรนัก และค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ประเด็นที่น่าจับตามองก็คือการนำเข้ากระจกราคาถูกจากประเทศจีนที่อาจจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่าในปี 2551 ปริมาณความต้องการใช้กระจกในประเทศจีนจะมีแนวโน้มลดลงมากหลังจากการเสร็จสิ้นการก่อสร้างสนามกีฬาโอลิมปิก ซึ่ง ณ ปัจจุบันจีนมีเตาหลอมผลิตกระจกที่เปิดทำการผลิตกระจกอยู่ถึง 200 เตา แต่ละเตามีกำลังการผลิตเฉลี่ยประมาณ 2 แสนตันต่อเตาต่อปี หรือมีกำลังการผลิตรวมกันถึงประมาณ 40 ล้านตันต่อปี ขณะที่ปัจจุบันไทยมีการผลิตเพียงประมาณ 1 ล้านตันต่อปี ซึ่งอาจส่งผลให้มีกระจกราคาถูกจำนวนมากที่เกินกว่าความต้องการบริโภคภายในประเทศจีนจำนวนหนึ่งเข้ามาสู่ประเทศไทยได้

ขณะที่หากพิจารณาทางด้านการส่งออกกระจกของประเทศไทย แม้ว่าในช่วงสามปีที่ผ่านมาโดยภาพรวมประเทศไทยจะมีมูลค่าการส่งออกทั้งกระจกแผ่นเรียบและกระจกแปรรูปที่สูงกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ (รายละเอียดแสดงในตาราง) แต่การส่งออกกระจกแผ่นเรียบมีแนวโน้มลดต่ำลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระจกโฟลตกลาสที่ในปี 2550 มีมูลค่าการส่งออกลดต่ำลงจากช่วงเวลาในอดีตมาก อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงของกระจกที่ทำการส่งออกจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากประเทศอินโดนีเซีย และจีนที่มีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำกว่าประเทศไทยประมาณ 20 – 30 % ด้วยความได้เปรียบทางด้านการประหยัดจากขนาดในการผลิตที่ผลิตในจำนวนที่มาก ต้นทุนค่าแรงงานและพลังงาน อีกทั้งคุณภาพของกระจกแผ่นเรียบที่ผลิตได้จากแต่ละประเทศไม่แตกต่างกันมาก ขณะที่หากพิจารณามูลค่าการส่งออกกระจกแปรรูปที่เป็นการนำเอากระจกแผ่นเรียบมาแปรรูปด้วยกระบวนการและเทคโนโลยีที่สูงขึ้นนั้น นับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา กระจกแปรรูปที่ไทยส่งออกมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นเพราะกระจกแปรรูปที่ผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศของไทยสามารถผลิตได้ด้วยคุณภาพที่ได้มาตรฐานมากกว่ากระจกแปรรูปจากประเทศอินโดนีเซีย และจีน ซึ่งกระจกแปรรูปที่ประเทศไทยมีแนวโน้มการส่งออกได้ดี ได้แก่ กระจกนิรภัย กระจกเงา และกระจกลวดลาย โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เม็กซิโก และสิงคโปร์ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศไทยในการผลิตและส่งออกกระจกแปรรูปที่นำกระจกแผ่นเรียบมาพัฒนาปรับปรุงสร้างมูลค่าเพิ่มอีกระดับหนึ่ง อีกทั้งในปี 2551ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากการส่งออกผลิตภัณฑ์กระจกไปยังประเทศญี่ปุ่นที่เป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของประเทศไทยด้วยผลของความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น(JTEPA) ที่ส่งผลให้อัตราภาษีผลิตภัณฑ์กระจกที่ส่งออกจากประเทศไทยไปยังประเทศญี่ปุ่นเป็น 0 % แต่ทว่าการส่งออกกระจกของผู้ผลิตรายย่อยในประเทศไทยที่ไม่มีตลาดรองรับที่แน่นอนอาจจะส่งออกได้ยากลำบากขึ้นจากผลกระทบจากปริมาณการผลิตเพื่อการส่งออกจำนวนมหาศาลของประเทศจีนที่อาจส่งออกแข่งขันกับประเทศไทยในปี 2551ได้

โดยสรุป แม้ว่าภาวะต้นทุนการผลิตด้านพลังงานของอุตสาหกรรมกระจกจะเพิ่มสูงขึ้น และอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมกระจกจะมีแนวโน้มขยายตัวไม่มากนัก ประกอบกับค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการแข่งขันของอุตสาหกรรมกระจกในตลาดโลกที่จะมีความรุนแรงมากขึ้นจากปริมาณการผลิตจำนวนมหาศาลของประเทศจีนที่จะออกสู่ตลาดโลก แต่ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่าในปี 2551 อุตสาหกรรมกระจกของประเทศไทยจะยังคงขยายตัวในระดับใกล้เคียงกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่ประมาณ 5 % โดยการลงทุนก่อสร้างในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ และการผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออกของบริษัทรถยนต์จำนวนมากที่มาตั้งฐานการผลิตภายในประเทศ อีกทั้งการส่งออกกระจกแปรรูปที่ยังคงมีแนวโน้มที่ดีจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการขยายตัวในอุตสาหกรรมนี้ต่อไปในปี 2551


admin

No description.Please update your profile.

LEAVE A REPLY